ประวัติความเป็นมา

         ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลลำปาง ภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลลำปาง ก่อตั้งขึ้นภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (the Collaborative Project to Increase Production of Rural Doctor : CPIRD) ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์และการกระจายแพทย์ที่ไม่เหมาะสมในชนบท โดยมียุทธศาสตร์เริ่มต้นคือ รับจากชนบท เรียนที่ชนบท และกลับสู่ชนบท และได้ลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2543 โดยการจัดการเรียน การสอนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จะเรียนกระบวนวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปตามข้อบังคับเพื่อการศึกษา ขั้นปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชั้นปีที่ 2-3 เรียนร่วมกับชั้นปรีคลินิกของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนในชั้นคลินิกปีที่ 4-6 เรียนที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลลำปาง ปัจจุบันศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลลำปาง ยังได้ร่วมผลิตบัณฑิตแพทย์ในโครงการอื่นเพิ่มเติมดังนี้

         1. โครงการผลิตแพทย์ตามแผนการลงทุนเสริมสร้างโครงสร้างสาธารณสุขแห่งชาติ (โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐด้านสาธารณสุข; Mega Project)

         2. โครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (One District One Doctor : ODOD)

         ปัจจุบันอยู่ในระหว่างใช้หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (ปรับปรุง ปี 2558) ของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เน้นพัฒนาทักษะด้านการทำวิจัยและการใช้ภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและมาตรฐานการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ขณะเดียวกันก็มีการบูรณาการการเรียนการสอนลงสู่ในชุมชนตามนโยบายของสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท

วิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์ : สถาบันร่วมผลิดแพทย์และฝึกอบรมแพทย์หลังปริญญาที่ทันสมัยระดับประเทศ

พันธกิจ

พันธกิจ

     1. ผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีคุณภาพ เป็นผู้นำขับเคลื่อนความรอบรู้ด้านสุขภาพ

     2. สร้างเสริมงานวิจัย นวัตกรรมที่ตอบสนองต่อสุขภาวะชุมชน

     3. เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ต่อเนื่องของแพทย์หลังปริญญาในเขตสุขภาพ

     4. อนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมล้านนา